อัพเดทล่าสุด
หน้าแรก / ธุรกิจ SMEs / ทำไมคนที่มีธุรกิจครอบครัว ถึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจที่บ้าน!

ทำไมคนที่มีธุรกิจครอบครัว ถึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจที่บ้าน!

เชื่อว่าคนที่ไม่มีธุรกิจครอบครัว ต้องรู้สึกอิจฉาทายาท ธุรกิจ SME มากๆ! “เกิดมาจะโชคดีอะไรเช่นนี้ มีธุรกิจไว้รอรับ เรียนจบก็ไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ไม่ต้องสู้ชีวิตเหมือนคนอื่น มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายปูทางไว้ให้หมดแล้ว” เห้อ! ช่างน่าอิจฉาอะไรอย่างนี้นะ

แต่ใครจะรู้…”ว่าที่ทายาทหลายๆ คน”  กลับรู้สึกกลัดกลุ้มใจอย่างมาก อย่างที่เค้าว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า เป็นสำนวนที่เหมาะกับเหตุการณ์นี้มากๆจริงมั้ยคะ บางคนทำ ธุรกิจ SME ที่บ้านไม่เป็น บางคนกลัวบริหารไม่ดีเท่ารุ่นพ่อแม่ บางคนไม่ชอบ และบางคนก็มีความฝันที่อยากทำมากมาย มาดูกันว่าเหตุผลอะไรบ้างที่ทายาทไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว

เหตุผลที่ไม่อยากทำธุรกิจครอบครัว

  • เห็นพ่อแม่เครียด จึงไม่อยากเครียดเหมือนพ่อแม่

ตอนเป็นเด็ก จะเห็นภาพที่แม่นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดทำบัญชี ทั้งจดทั้งจิ้มเครื่องคิดเลข ยิ่งเดือนไหนยอดไม่ได้ ตัวเลไม่ตรงมีพาลมาหาสามีและลูกด้วย ส่วนพ่อ ถ้าเดือนไหนไม่มีลูกค้านี่เครียดพอกัน ช่วงนั้นอยากกินอะไรอยากเที่ยวที่ไหนพ่อก็ไม่พาไป โตมาจึงเป็นปมในใจว่าการทำธุรกิจนั้นมัน “เครียด”

  • ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม จึงไม่อยากทำธุรกิจส่วนตัว

เป็นอีกเหตุผลหลักที่เหล่าทายาททั้งหลายไม่อยากกลับไปทำธุรกิจครอบครัว ตอนเรียน พ่อแม่ก็ส่งไปเรียนไกลบ้าน จบมาต้องทำงานที่บ้านงานนี้ก็เหงาสิคะ เพราะแถวบ้านไม่รู้จักใคร คนที่เรียนจบใหม่จึงอยากสนุกกับเพื่อนๆ อยากหาประสบการณ์ชีวิตเอง

  • สิ่งที่เรียนมากับธุรกิจส่วนตัวของที่บ้านไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

มีเยอะนะคะทายาทที่เรียนมาอีกสาย แต่ธุรกิจครอบครัวเป็นงานอีกสายที่ไม่รู้จักเลย เคยมีเคสนึง เรียนจบการโรงแรมมา แต่ธุรกิจที่บ้านคือโรงกลึง… แถมเป็นลูกสาวคนเดียวอีก! มันก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเพราะงานทั้ง 2 อย่างแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

  • อยากทำธุรกิจของตัวเอง

ว่าที่ทายาทธุรกิจครอบครัวหลายคนมีความฝันที่อยากทำ อยากมีกิจการที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจของพ่อแม่ที่ทำอยู่ เกรงว่าถ้ารับช่วงธุรกิจ SME จากพ่อแม่ ความฝันของตัวเองก็ต้องพับเก็บเข้ากล่องแล้วล๊อคกุญแจไปตลอดกาล

  • เห็นว่าประเภทของธุรกิจที่บ้านน่าจะไปไม่รอด

อันนี้เป็นมุมมองของคนที่มีวิสัยทัศน์พอสมควร คือได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจครอบครัวมาแล้วว่า เป็น ธุรกิจ SME ขาลง เนื่องจากความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป พูดง่ายๆคือธุรกิจเริ่มไม่เป็นที่สนใจในตลาด ถึงฝืนทำไปสุดท้ายธุรกิจก็ไม่โตอยู่ดี

  • วิสัยทัศน์ของพ่อแม่ กับลูกไม่เหมือนกัน

เป็นปัญหาภายในที่จะว่าแก้ยากก็ยาก…จะว่าแก้ง่ายก็ง่าย! ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอ และมุมมองของทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าพ่อแม่ค่อนข้างหัวโบราณ มองว่าสิ่งที่ตัวเองทำและสร้างมานั้นดีที่สุดแล้ว เมื่อลูกเสนอความคิดเห็นจึงไม่เห็นด้วย อันนี้ก็แก้ยากค่ะ จริงอยู่ว่าสิ่งที่เคยคิดนั้นดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การดูแลธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ ไม่เช่นนั้นธุรกิจ SME ของคุณเสี่ยงที่จะเฉาตายตามกาลเวลาค่ะ

แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี ?

แนะนำว่าให้พูดคุยกันภายในครอบครัวก่อนค่ะ การรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพ่อแม่ส่งต่อธุรกิจ SME ให้ลูกแต่ลูกไม่มีความสุข เอาจริงๆพ่อแม่ก็คงไม่มีความสุขจริงมั้ยคะ ความสามรถของทายาท ความเชื่อมั่นของลูกค้า และลูกน้อง ความอยู่รอดของธุรกิจ และความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่ายคือพ่อแม่กับลูก ต้องใส่ใจไปพร้อมๆกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องใช้เวลากันสักพักใหญ่ พ่อแม่เองก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูก “ถ้าให้อำนาจไปแต่ไม่สอนว่าจะบริหารยังไง ฟันธงเลย 100% ธุรกิจSME จบลงที่รุ่นลูกแน่นอน! ฉะนั้นต้องถ่ายทอดกันจริงจังรวมถึงวิธีการคิดคิดและบริหารงานด้วย” สิ่งนี้สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด ถ้าลูก “คิดเป็น” ไม้ใช่แค่สามารถแก้ปัญหาได้แต่ยังคิดต่อยอดได้อีกด้วย

การดูแลธุรกิจครอบครัวอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ขอแค่ ให้เวลาในการเตรียมความพร้อม คนรับช่วงต่ออาจจะเครียดแค่ช่วงแรกเท่านั้นแหละค่ะ หลายคนเมื่อได้เริ่มทำธุรกิจครอบครัวสักพัก ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เข้าใจระบบการทำงาน เริ่มเข้าใจลูกน้อง เริ่มรู้ว่าต้องดูแลลูกน้องและลูกค้ายังไง ดีเสียอีกเราจะได้นำความรู้ที่มี มาปรับใช้ อันไหนที่ไม่เป็นระบบระเบียบก็ลองปรับลองพัฒนาดู

ทำไปทำมาก็ชอบ เพราะได้อยู่บ้าน ได้เงินเยอะกว่าคนที่ทำงานประจำ สำหรับว่าที่ทายาทธุรกิจครอบครัวทั้งหลาย ลองให้เวลากับตัวเองสักพักนะคะ ลองเรียนรู้งานดูสักตั้ง ไหนๆก็เป็นธุรกิจครอบครัวเรา ถ้าดูแลได้ตัวเองก็ภูมิใจ พ่อแม่ก็สบายใจ
advertisement

About Admin

"สยามอาชีพ" อาชีพเสริม สร้างอาชีพ สร้างรายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.