อัพเดทล่าสุด
หน้าแรก / นานาสาระ / นักเขียนจะปรับตัวอย่างไร ? ในยุคธุรกิจสิ่งพิมพ์ถดถอย

นักเขียนจะปรับตัวอย่างไร ? ในยุคธุรกิจสิ่งพิมพ์ถดถอย

เมื่อ “อาชีพนักเขียน” ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ไม่มากนักและต้องใช้เวลาสะสมประสบการณ์ในการก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่อินเตอร์เน็ตก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราและสร้างผลกระทบต่อนิสัยการอ่านของเด็กรุ่นใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อหลาย ๆ คนหันไปหาสื่อออนไลน์ที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือการลดยอดตีพิมพ์กว่าครึ่งของหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งแมกกาซีนชื่อดังที่ทยอยปิดตัวลงเนื่องจากขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลานาน คำถามก็คือนักเขียนอาชีพจะปรับตัวอย่างไรหรือมีช่องทางไหนที่พอจะสร้างรายได้ให้หนีจากคำว่า ‘นักเขียนไส้แห้ง’ ในยุคที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์กำลังถดถอย

อันที่จริง การเป็นนักเขียนนั้นได้เปรียบตรงที่นักเขียนส่วนใหญ่เกิดขึ้นความรักในการอ่านและสนใจในเรื่องข่าวสารความรู้รอบตัว ข้อได้เปรียบตรงนี้นี่เองที่ทำให้นักเขียนหลาย ๆ คนสามารถพลิกแพลงความสามารถของตนเองไปทำงานอื่น ๆ ได้มากมาย โดยที่ไม่ต้องนั่งรอส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์อย่างเดียวอีกต่อไป มาดูกันว่ามีงานอะไรบ้างที่นักเขียนทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นสามารถทำได้

เมื่อเทคโนโลยีเอื้อให้นักเขียนได้แสดงฝีมือมากกว่าบนหน้ากระดาษ นักเขียนหลาย ๆ คนเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามผลงานมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือเพจเฟสบุ๊กที่ต่อยอดให้นักเขียนหน้าเว็บไซต์ชื่อดังหลายคนมีผลงานรวมเล่มเป็นหนังสือออกมาให้แฟนคลับได้ติดตามกัน อาทิ เพจบันทึกของตุ๊ด โดยคุณช่า และ เพจ Drama Addict โดยจ่าพิชิต ด้วยความที่โซเชียลมีเดียเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายและเร็วกว่า นักเขียนหลายคนจึงหันมาอัพเดตงานเขียนและเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางหน้าเฟสบุ๊กหรือหน้าบล็อกของตนเอง บ่อยครั้งที่งานเขียนเหล่านั้นได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์ให้เหล่านักอ่านที่ยังชอบในความคลาสสิกของหน้าหนังสือได้ติดตามผลงานกันอย่างต่อเนื่อง

  • นักแปลภาษา, เอดิเตอร์, นักพิสูจน์อักษร

แน่นอนว่าเมื่อคุณเป็นนักเขียน ความรู้ทางภาษา ไวยากรณ์ และการสร้างประโยคให้สละสลวยคือพื้นฐานที่ควรจะมี นักเขียนหลายคนจึงทำหน้าที่เป็นทั้งคนเขียน แก้ไขบทความ และพิสูจน์อักษร เรียกว่าคนเดียวทำได้ครบวงจร นอกจากงานเขียนของตนเองแล้ว บางคนมักรับงานเสริมในการแปลหนังสือหรือบทความให้กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงทำหน้าที่เป็นเอดิเตอร์ คอยตรวจทานและแก้ไขบทความของนักเขียนท่านอื่น ๆ ได้ด้วย แม้ว่าในแต่ละสำนักพิมพ์จะมีเอดิเตอร์แลละนักพิสูจน์อักษรมืออาชีพอยู่แล้ว แต่นักเขียนประเภทครบวงจรก็ยังเป็นนักเขียนที่ทางสำนักพิมพ์โปรดปรานในความเพอร์เฟ็กต์อยู่ดี

  • นักเขียนรับเชิญ

ในสำนักพิมพ์ส่วนมากมักมีทั้งนักเขียนประจำและนักเขียนรับเชิญ ซึ่งนักเขียนรับเชิญนั้นเป็นประเภทงานฟรีแลนซ์ติดอันดับยอดฮิตของอาชีพนักเขียน อย่างที่รู้กันดีว่านักเขียนย่อมอยากแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองของตนเองผ่านทางงานเขียน การได้รับเชิญเขียนคอลัมน์ในแมกกาซีนหรือบทความในเว็บไซต์จึงเป็นถือเป็นอิสระทางความคิดอย่างหนึ่ง โดยเรื่องราวที่เขียนมักเป็นเรื่องที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญหรือเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น แต่ก็ใช่ว่านักเขียนรับเชิญจะเป็นได้ง่าย ๆ เพราะโดยส่วนมากสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ มักเลือกนักเขียนที่มีผลงานและชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษที่เข้ากับสไตล์ของหนังสือหรือเว็บไซต์นั้น ๆ ส่วนนักเขียนหน้าใหม่ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะถ้างานเขียนของคุณดีพอ โอกาสก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

  • พิธีกร

นักเขียนบางคนผันตัวไปเป็นพิธีกรทางช่องทีวีดิจิตอล โดยนำเอาความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์นอกเหนือจากงานเขียน ส่วนมากมักเป็นรายการประเภทหยิบเอาข่าวหรือประเด็นฮิตที่น่าสนใจมาเล่าเรื่องราวและเสริมด้วยการแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์มากกว่าเป็นการรายงานข่าวแบบจริงจัง รายการอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือรายการท่องเที่ยวที่มักมีมุมมองแปลกใหม่และเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ แปลกแตกต่างจากรายการท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไปมานำเสนอ อย่าเช่นรายการพื้นที่ชีวิตของนิ้วกลมและวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

  • ครีเอทีฟ

งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานซึ่งก็มีส่วนคล้ายกบงานครีเอทีฟเช่นเดียวกัน งานครีเอทีฟในส่วนที่นักเขียนบางคนรับจ๊อบเข้าไปมีส่วนรวมนั้นอยู่ในขั้นตอนของการเสนอไอเดีย อย่างเช่นครีเอทีฟโฆษณาโทรทัศน์หรือเนื้อหาในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของแต่ละบริษัท ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้ามักจ้างออร์แกไนเซอร์หรือบริษัททำคอนเทนต์และสื่อโฆษณามืออาชีพสำหรับโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เอาเป็นว่าหากคุณเป็นนักเขียนที่มีความรู้ด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ลองมองหางานเสริมในสายนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน เพราะนอกจากจะได้ใช้ไอเดียในการนำเสนองานแล้ว ยังสามารถต่อยอดในสายงานด้านการตลาดได้อีกด้วย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างงานที่นักเขียนสามารถทำได้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่หลาย ๆ สำนักพิมพ์ต้องเผชิญกับอัตราการอ่านและยอดขายที่ลดลงจนน่าใจหาย หนทางการอยู่รอดในฐานะนักเขียนในปัจจุบันจึงต้องอาศัยการปรับให้เข้ากับยุคสมัยและความนิยมที่ต่างกันไป แต่ที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของนักเขียนที่มีความสุขในการบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านนั่นเอง

อาชีพนักเขียน

ผู้เขียน ภคินี บริษัท iPrice

advertisement

About Admin

"สยามอาชีพ" อาชีพเสริม สร้างอาชีพ สร้างรายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.