เมื่อพูดถึง “ธรรมนูญครอบครัว” คงสงสัยว่า คืออะไร? สำคัญกับธุรกิจครอบครัวอย่างไร? เหมือนกับพินัยกรรมครอบครัวมั้ย หรือเป็นการแบ่งมรดกของธุรกิจ … ไม่ใช่นะคะ “ธรรมนูญครอบครัว” ไม่ใช่พินัยกรรมและไม่ใช่การแบ่งมรดก แต่เป็นเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกในครอบครัวซึ่งครอบคลุมทุกประเด็น ที่เกี่ยวกับการวางระบบธุรกิจ และครอบครัวหรือตระกูล
ธรรมนูญครอบครัวมีประเด็นอะไรบ้าง และมีวัตถุประสงค์อย่างไร
ธรรมนูญครอบครัว จะระบุบทบาทหน้าที่ไว้ทุกเรื่องทั้งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กฎ กติกา เป้าหมายที่มีร่วมกัน การแบ่งหน้าที่ ข้อกำหนดในการทำงาน การจ่ายผลตอบแทน การลงทุน การแก้ปัญหา การสื่อสาร กลยุทธ์ในการบริการงาน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งธรรมนูญของแต่ละธุรกิจครอบครัวไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษที่ระบุไว้
ธรรมนูญครอบครัวมีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เพื่ออะไร
เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนในเรื่องของผลประโยชน์ ทั้งรายได้ เงินปันผล และการนำเงินกองกลางไปใช้
เพื่อกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับสมาชิกทุกคน เช่น บางตระกูล เขย สะใภ้ ไม่สามารถมีตำแหน่งในธุรกิจได้
หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในครอบครัวและตระกูล และเพื่อให้ทุกคนยังคงเหนียวแน่นกันไว้
เพื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน
ทำไมต้องมีธรรมนูญครอบครัว
เนื่องจากว่าธุรกิจครอบครัวมีความสัมพันธ์ทับซ้อนกัน ทั้งเรื่องธุรกิจ และทางสายเลือด ฉะนั้นการบริหารธุรกิจครอบครัวจึงต้องมีระบบ”ธรรมนูญครอบครัว“เข้ามาดูแล เป้าหมายของการสร้างธรรมนูญครอบครัว คือการที่ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และครอบครัวต้องไม่แตกแยก
เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาว สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจต้องเติบโต โดยที่ครอบครัวต้องมีความสมานฉันท์ ไม่แตกแยก
ตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่สามารถใช้ธรรมนูญครอบครัวได้ประสบความสำเร็จ
- ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลและบริษัทในเครือ
ธรรมนูญครอบครัวของตระกูลจิราธิวัฒน์ มีมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ (เตียง จิราธิวัฒน์) ของคุณสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ (ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล) ถึงสมัยก่อนไม่ได้เป็นกฎตายตัวมากนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ลูกทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร ต้องปฏิบัติอย่างไร สิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดทีไม่ควรทำ
พอตกมาถึงรุ่นที่ 3 และ 4 เมื่อมีลูกหลานเยอะขึ้น คุณวันชัย (พี่ชาย) จึงมีความคิดเห็นให้ทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมาอย่างชัดเจน จุดประสงค์เพื่อให้ครอบครัวสามัคคีกัน ช่วยกันทำงานให้เจริญรุ่งเรือง เป็นการวางแผนที่ดีตั้งแต่ฐานราก ช่วยป้องกันปัญหา ซึ่งเป็นเคล็ดลับทำให้ “จิราธิวัฒน์” ยิ่งใหญ่มาได้ทุกวันนี้
เรื่องสถาบันการเรียน สมัยก่อนผู้ชายจะเรียนอัสสัญชัญ ผู้หญิงเรียนที่มาแตร์เดอี จริงๆก็ไม่ใช่เป็นการบังคับ เป็นแค่การแนะนำกันเพราะ 2 สถาบันนี้ดี แต่สมัยนี้สถานที่เรียนดีๆมีให้เลือกมากมาย ก็แล้วแต่ว่าอยากเรียนที่ไหน มีการแนะนำบ้าง แต่ไม่บังคับ เพราะทุกอย่างกลับมาทำงานให้บริษัทได้หมด และมีการสนับสนุนทุนการศึกษาด้วย
ส่วนในเรื่องการคัดเลือกซีอีโอ ก็ไม่ได้กำหนดไว้เช่นกัน ใช้หลักเกณฑ์สากล นั่นก็คือกรรมการบริษัทเป็นคนคัดเลือก เป็นคนตัดสินใจตามความเหมาะสม และความสารมารถ สิ่งที่เน้นในธรรมนูญครอบครัว ที่ทุกคนในตระกูลต้องทราบคือ เป็นคนขยันจริงใจ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
- บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
นายยงยุทธ กิตะพาณิชย์ รองประธานกรรมการและกรรมการบริหาร ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับธรรมนูญครอบครัวว่า บริษัทใช้ ธรรมนูญครอบครัว เป็นหลักยึดในการบริหาร รุ่นหลานที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถโหวตคะแนนเสียงเลือกกรรมการสภาใหญ่ได้ และไม่ว่าเขยหรือสะใภ้ ก็สามารถเข้าทำงานกับบริษัทได้ โดยสมาชิกเป็นผู้แต่งตั้งและยอมรับกัน