วันนี้ สยามอาชีพ ขอเอาใจคนรักสุขภาพด้วยเมนูเครื่องดื่มอย่าง “น้ำเต้าหู้” ซึ่งเครื่องดื่มชนิดนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจริงๆ แม้แต่ผู้ที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ก็สามารถดื่มได้ เพราะน้ำเต้าหู้หวานน้อย 1 แก้วให้พลังงานถึง 80 กิโลแคลรี่ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากถั่วเหลืองไปเต็มๆ อีกด้วยครับ แต่ก่อนอื่น เรามาดูประโยชน์และโทษของน้ำเต้าหู้กันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้ มีอะไรบ้าง
- โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมลดน้อยลง เนื่องจาก ไฟโตเอสโตรเจนจะไแย่งจับกับตัวรับ (Receptor) ของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
- ไฟโตเอสโตรเจนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน อาการวัยทอง และโรคหลอดเลือดหัวใจการรับประทานเต้าหู้วันละ 2 ชิ้น จะได้สารไฟโตเอสโตรเจน 2 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการป้องกันกระดูกพรุน การรับประทานโปรตีนถั่วเหลืองวันละ 25 กรัม สามารถลดหรือป้องกันอาการวัยทอง ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก และวิตกกังวล
- ป้องกันการทำลาย DNA ใน lymphocyte นอกจากนี้ ในถั่วเหลืองยังอุดมไปด้วยสารอาหารอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน AB, B1, B2, B6, B12 ไนอาซิน และวิตามิน C, D, E และในเมล็ดถั่วเหลืองยังมี “เลซิทิน” อันเป็นสารบำรุงสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดไขมันและลดโคเลสเตอรอลในร่างกายได้อีกด้วย
โทษของน้ำเต้าหู้ มีอะไรบ้าง
- การรับประทานไฟโตเอสโตรเจนขนาดสูง อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เพราะไฟโตเอสโตรเจนก็ทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ดังนั้นคนที่เป็นมะเร็งเต้านม การรับประทานไฟโตเอสโตรเจนเป็นควรระวัง
- การรับประทานอาหารต้องรับประทานแต่พอดี ถั่วเหลืองจะดีต่อสุขภาพถ้าเราไม่ทานมากเกินไป คือ วันละ 30 กรัม จึงจะเหมาะสมที่สุด
ส่วนผสมน้ำเต้าหู้
- ถั่วเหลืองผ่าซีกหรือไม่ผ่า 9 ส่วน ถั่วลิสง 1 ส่วน (มากน้อยตามชอบ) นำไปซาวน้ำ 3 ครั้ง แล้วแช่ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมงขึ้นไป
- น้ำตาลทราย
- เกลือป่น
- เครื่องเคียงที่ทานหรือจะไม่ใส่ก็ได้แล้วแต่ความชอบ เช่น วุ้น ลูกเดือย ถั่วแดง แมงลัก เป็นต้น
วิธีทำน้ำเต้าหู้
- นำถั่วที่แช่น้ำทิ้งไว้ มาซาวล้างน้ำอีก 3 รอบ
- นำถั่วไปปั่นให้ละเอียด โดยใส่น้ำพอท่วมเล็กน้อย
- กรองเอากากถั่วออกด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้น หากชอบละเอียดให้กรอง 2 รอบ บีบน้ำถั่วออกให้หมด
- เติมน้ำสะอาด โดยกะเอาตามความชอบความข้น
- นำไปต้มโดย หาหม้อใบใหญ่ต้มน้ำ แล้วเอาน้ำถั่วใส่หม้อเล็ก ลอยในน้ำเดือด รอให้น้ำถั่วเดือด
แล้วค่อยปรุงน้ำตาล โดยปรุงความหวานได้ตามชอบ หรือจะไม่ใส่น้ำตาลก็ได้ จากนั้นให้เติมเกลือป่นลงไปเล็กน้อย แค่นี้ก็ได้น้ำเต้าหู้สดแล้วครับ
หมายเหตุ :
- ผมเพิ่มข้าวโพดต้ม แคนตาลูป และเฉาก๊วยฝานใส่ลงไปด้วยครับ
- การต้ม 2 ชั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำเต้าหู้ไหม้ติดก้น เพราะหากต้มโดยตรง จะไหม้ง่ายมาก และต้องคอยคนตลอดเวลา
- เราเก็บใส่ตู้เย็นแล้วนำมาเติมน้ำตาลตอนจะทานก็สะดวกดีครับ
- น้ำเต้าหู้ ยังสามารถดัดแปลงไปเป็นเต้าหู้อื่นๆ ได้อีกหลายอย่างครับ
เขียนสูตรอาหาร รูปภาพโดย : คุณ คริษฐ์ เกตุแค ผู้ดูแลเพจ อาหารที่แม่สอน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : sanook.com และ dailynews.co.th
เรียบเรียงโดย : www.siamarcheep.com (สยามอาชีพ)