หน่อไม้หวาน หรือ ไผ่หวาน พืชเศรษฐกิจทำเงินที่เกษตรกรนิยมปลูกขายสร้างรายได้ ซึ่งพืชชนิดนี้เกษตรกรหลายคนบอกว่า สามารถสร้างรายได้ดีมากกว่าการปลูกยางพาราด้วยซ้ำ อีกทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายอีกด้วย
ลักษณะเด่นของหน่อไม้หวานนี้ จะอยู่ที่หน่อไผ่ที่มีรสชาติหวาน จึงสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายหลายเมนู หรือจะกินหน่อไม้ดิบเหมือนกินผักสดๆ ก็ได้ เพราะหน่อดิบของไผ่หวานนั้นมีรสชาติไม่ขมติดลิ้นเหมือนหน่อไม้ไผ่พันธุ์อื่นๆ จึงนิยมนำมาประกอบอาหารค่ะ
วันนี้ สยามอาชีพ ขอนำเสนอเมนู หน่อไม้หวานต้มกระดูกหมู ซึ่งเมนูนี้เป็นสูตรอร่อยที่แนะนำโดย คุณ คริตษฐ์ เกตุแค หรือ กุ๊กเทวดาของเรานั่นเองค่ะ ซึ่งแกงหน่อไม้หวานต้มกระดูหมูนี้ ก็คล้ายๆ กันกับแกงจืดโดยทั่วไป แต่รสชาติจะมีความอร่อยเข้มข้นมากกว่า เพียงแค่เปลี่ยนจากฟักแฟง มาเป็นหน่อไม้หวานแทนเท่านั้นเองค่ะ ส่วนผสมและเครื่องปรุง พร้อมกับขั้นตอนในการทำนั้น จะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ
วัตถุดิบและส่วนผสม
- กระดูกหมู (เล้ง) 500-600 กรัม หรือตามชอบ นำมาหั่นและล้างให้สะอาด
- หน่อไม้ไผ่หวาน 2 หน่อ หลังจากเอาเปลือกออก เป็นน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม ฝานเปลือกแข็งและโคนแข็งออกให้หมด แล้วนำมาล้าง หั่น ซอย ตามชอบ
เครื่องปรุงรส ได้แก่
- เกลือป่น 1.5 ช้อนชา
- ซีอิ้วขาว 5-6 ช้อนโต๊ะ
- ผงปรุงรส 1 ช้อนชา
- ซุปก้อน 1 ก้อน
- รากผักชี 4-5 ราก นำมาล้างให้สะอาด แล้วทุบ
- เม็ดเก๋ากี้ 2 ช้อนโต๊ะ นำมาแช่น้ำ
ความรู้เพิ่มเติม : การต้มน้ำซุปให้อร่อย หลายคนแนะนำให้ใช้กระดูกหมูเอียวเล้ง นั่นคือ กระดูกหมูที่ได้มาจากกระดูกสันหลังของหมูนั่นเองค่ะ
วิธีทำหน่อไม้หวานต้มกระดูกหมู
- นำหม้อตั้งไฟ ใส่น้ำเปล่า 2.5 ลิตร เทลงไปในหม้อ
- จากนั้นให้ใส่เครื่องปรุงลงไป ได้แก่ เกลือป่น 1.5 ช้อนชา , ซีอิ้วขาว 5-6 ช้อนโต๊ะ , ผงปรุงรสหมู 1 ช้อนโต๊ะ และ ซุปก้อน 1 ก้อน และรากผักชีทุบ 4-5 รากลงไปในหม้อ ต้มให้เดือด
- ต่อมาพอน้ำเริ่มเดือดได้ที่แล้ว ให้ใส่กระดูกหมูที่เตรียมไว้ลงไป รอให้เดือด และคอยตักฟองทิ้งเป็นระยะๆ
- พอหม้อเดือดได้ที่แล้ว ให้ใส่หน่อไม้หวานลงไป ต้มต่อไป แล้วคอยช้อนฟองทิ้ง พอหม้อเดือดให้เบาไฟลง ให้หม้อเดือดพอปุด ๆ ก็พอ
- จากนั้นใส่เม็ดเก๋ากี้ลง ตุ๋นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพอใจ และชิมรส ปรับรสได้ตามความชอบ
- เสร็จแล้วตักใส่ชาม พร้อมเสริฟ โรยหน้าด้วยพริกไทยป่น และผักชีซอย
หมายเหตุ : บางสูตรอาจจะไม่ปรุงรสตั้งแต่เริ่มแรก แต่จะปรุงตอนจะปิดไฟก็ไม่ผิดนะครับ แต่ที่ปรุงก่อนเพื่อให้รสชาติเข้าเนื้อหน่อไม้ เพราะสุดท้ายเราจะชิมตอนที่จะปิดไฟอยู่ดี และการชิมก่อนนั้นรสชาติอาจจะยังอ่อน แต่เมื่อน้ำงวดลงแล้ว รสชาติจะเข้มขึ้นครับ
เขียนสูตรอาหาร รูปภาพโดย :คุณ คริษฐ์ เกตุแค ผู้ดูแลเพจ อาหารที่แม่สอน
เรียบเรียงโดย : www.siamarcheep.com (สยามอาชีพ)