เงินลงทุน…คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าถ้ามีเงินลงทุนมากยิ่งได้เปรียบ แต่ถ้าไม่ได้มีเงินถุงเงินถังก็ต้องใช้เงินที่มีอย่างประหยัดที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกอย่างหนึ่งคือไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจเราจะรุ่งหรือร่วง การเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว ด้วยงบน้อยจึงเหมือนการทดลองตลาดถ้ารายได้ดี เราก็เพิ่มทุนทีหลังได้
เงินลงทุนน้อย ทำอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
- เริ่มต้นจากเล็กๆก่อนค่อยขยับขยายไปตามกำลัง
หลีกเลี่ยงการยืมเงินให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการยืมเงินที่เยอะเกินตัวมากๆโดยหวังว่าจะต้องมีรายได้ดีจากการทำธุรกิจ ถ้าคุณทำได้อย่างที่หวังก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้าธุรกิจไปได้ไม่สวยจะทำให้คุณเครียดหลายเท่า ไหนจะต้องเสียค่าเช่า ไหนจะค่ากินค่าอยู่ ไหนจะครอบครัว แล้วต้องมาเสียดอกเบี้ยอีก เรียกว่าเป็นอาการ “เครียดซ้ำซ้อน” เลยทีเดียว
- ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อะไรที่ทำเองได้ก็ทำเอง “ทรัพยากร” ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ตกแต่งร้าน วัสดุอุปกรณ์อะไรเล็กๆน้อยๆที่ประดิษฐ์เองได้แถมน่ารักด้วย อะไรที่ใช้ซ้ำได้ก็ไม่ต้องซื้อใหม่ ถัง หรือกล่องเปล่าที่ยังสภาพดี ก็เอาไปใส่อุปกรณ์เล็กๆน้อยๆได้ไม่ต้องซื้อใหม่
- เปรียบเทียบต้นทุนวัตถุดิบจากหลายๆเจ้า
ไม่ว่าธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจซื้อมาขายไป หรือธุรกิจบริการ ก็ต้องซื้อของเข้าร้านไม่มากก็น้อย ข้าวของที่เราต้องซื้อประจำควรเปรียบเทียบขนาด ปริมาณ และคุณภาพจากหลายเจ้า เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพดีที่สุดในราคาที่คุ้มค่าที่สุด หากได้เป็นลูกค้าประจำจนได้รับส่วนลดจากซัพพลายเออร์ยิ่งดี หรือหาซัพพลายเออร์ที่ส่งของให้เราได้จะช่วยลดค่าน้ำมันไปได้เยอะ
- คำนวณการซื้อของให้ดีๆ จดก่อนไปซื้อ และซื้อให้ครบ
การซื้อทีละน้อยไม่ได้แปลว่าได้ของถูกเสมอไป แอดมินเห็นบ่อยๆธุรกิจร้านอาหารหน้า 7-Eleven อย่างกระดาษทิชชู่หรือไม้จิ้มฟันที่เราเห็นว่าราคาไม่แพง แต่ถ้าคอยวิ่งเข้า 7-Eleven แล้วซื้อทีละชิ้น สรุปเดือนหนึ่งซื้อไปแล้วหลายรอบ ถ้าเจ้าของธุรกิจมองข้ามสิ่งเล็กน้อยแบบนี้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มโดยไม่รู้ตัว สู้ไปซื้อตามห้างใหญ่ทีเดียวแล้วสต๊อกมาให้พอใช้แต่ละเดือนจะดีกว่า เพราะต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่า แถมถ้าไปซื้อในช่วงห้างจัดโปรโมชั่นจะได้ราคาที่ถูกลงไปอีก
- ต้นทุนที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าที่คิด
เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าดอกเบี้ย ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟที่ชอบเปิดลืม ค่าอาหารเวลาไปซื้อของเข้าร้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆที่เรามักมองข้ามเพราะมันไม่ใช่ต้นทุนสินค้า เวลาจ่ายออกไปก็ยิบๆย่อยๆและไม่เห็นว่ามันจะหนักหนา แต่หารู้ไม่ว่าเจ้าของธุรกิจต้องจ่ายต้นทุนค่าเสียโอกาสเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
- ระวังทุนจม
ถ้ามีเงินลงทุนน้อยแล้วขายสินค้าที่เปลี่ยนไวตามกระแสอย่างสินค้าแฟชั่น จะทำให้เสี่ยงต่อการทุนจมเพราะขายไม่หมดแต่กระแสเปลี่ยนก่อน โดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าที่ฮิตเป็นพักๆ เช่น กำไลหิน เสื้อโบฮิเมี่ยน รวมถึงเสื้อที่ขายเฉพาะเทศกาล อย่างวันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่ ถ้าเราจับทางไม่ถูกว่าสินค้าจะฮิตอยู่นานแค่ไหน หรีอสต๊อกของมากเกินไปมีความเสี่ยงมากที่เราจะขายไม่หมดและจมทุน
- ตั้งราคาขายให้เหมาะสม
อยากรายได้ดีต้องตั้งราคาขายให้เหมาะสม ถ้าราคาแพง…คนซื้ออาจน้อยแต่กำไรต่อหน่วยเยอะก็ทำให้มีรายได้ดี ถ้าราคาขายต่ำกว่าคู่แข่ง…กำไรต่อหน่วยน้อยหน่อยแต่ขายได้ปริมาณเยอะก็ทำให้รายได้ดีอีกเช่นกัน การตั้งราคา นอกจากจะดูที่สินค้าแล้วยังอยู่ที่ทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยด้วย เช่นแหล่งช๊อปปิ้งที่ดูหรูหรา, แนวอินดี้, ในเมือง หรือชานเมือง กลุ่มลูกค้าคนไทย, จีน หรือยุโรป สิ่งเหล่านี้ทำให้ราคาขายแตกต่างกัน